top of page
วัตถุประสงค์
 
          1. พัฒนาดัชนีชี้วัดทางสังคมในประเด็นเรื่อง “ความเป็นธรรมทางสังคม”
 
          2. จัดทำฐานข้อมูลชุมชนเพื่อดำเนินการสำรวจครั้งต่อไป

 

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
 
           1. พัฒนาดัชนีชี้วัด “ความเป็นธรรมทางสังคม” Social Justice Index (SOJUST) เพื่อสะท้อนสภาพการณ์ความเป็นธรรมทางสังคมในมิติต่าง ๆ
 
          2. เผยแพร่งานวิจัยในวารสาร สื่อต่าง ๆ ภายใต้การนำเสนองานวิจัยผ่านศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 

ความสำคัญและที่มาของปัญหาที่ทำการวิจัย/

ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์หรือประเด็นการวิจัยหลักของหาวิทยาลัย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

            คำว่า “ความเป็นธรรม” คนส่วนใหญ่มักจะตีความและเข้าใจว่าเป็นเรื่องของหลักเกณฑ์และ ข้อกฎหมาย โดยมีรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่จะสามารถดำเนินการตรวจสอบและตัดสินได้ว่าบุคคลใดสมควรจะได้รับความเป็นธรรม ซึ่งถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนพอสมควร เนื่องจากที่กล่าวมาข้างต้นนั้นแท้จริงแล้วเป็นความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับประเด็น “ความยุติธรรม”  ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยข้อกำหนดทางกฎหมายที่ระบุไว้เป็นเกณฑ์หลักในการตัดสินจากการกระทำต่าง ๆ แต่ในเรื่อง “ความเป็นธรรม” นั้นจะมีความซับซ้อนและสามารถมองประเด็นต่าง ๆ ได้ในหลายมิติมากกว่า ตั้งแต่ประเด็นเรื่องจิตสำนึก คุณธรรมและวิธีการคิดของบุคคล โครงสร้างและกลไกลทางสังคมรวมไปถึงนโยบายของภาครัฐ อีกด้วย  ดังนั้น ในการทำความเข้าใจถึงประเด็นความเป็นธรรมถือเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมากจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการตีความและทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างคนในสังคมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ทุกคนในสังคมสามารถยึดถือและปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อนำมาสู่การสร้างสังคมที่มีแต่ความเสมอภาค ปราศจากความขัดแย้งจากการถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบดังที่เคยเกิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ยุคสมัยอดีตกาลจนถึงยุคปัจจุบัน 

 

        สำหรับประเทศไทยในช่วงตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาได้เผชิญกับวิกฤตการณ์ความรุนแรงในด้านต่าง ๆ มากมายอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ดังนั้น ความเป็นธรรมจึงถือเป็นประเด็นใหญ่ที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งสำหรับสังคมไทยที่พึงจะต้องตระหนัก ทำความเข้าใจและยึดมั่นในความเป็นธรรมอันถูกต้องร่วมกันเพื่อธำรงรักษาความเป็นชาติไทยสืบไป เพราะหากขาดความเป็นธรรมในสังคมขึ้นแล้วคนในสังคมจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไรและประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าต่อไปได้อย่างไร

 

              นอกจากนี้ประเด็นที่พึงตระหนักและพิจารณาเพื่อสร้างเป็นความเป็นธรรมให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นคือประเด็นเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” ในสังคมไทย สืบเนื่องมาจากจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของระบบเศรษฐกิจ จึงเป็นเหตุให้เกิดช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจน หรือช่องว่างระหว่างคนข้างล่างกับคนข้างบนขึ้นในสังคม สถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงภาพสะท้อนความไม่เป็นธรรมที่ได้เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย และในท้ายที่สุดจึงนำมาสู่ภาพของการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนที่มีสถานะแตกต่างกันการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบจากบุคคลที่อยู่ในสถานะต่ำกว่า การยอมจำนน รวมไปถึงการลุกขึ้นมาเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากสังคมดังที่ได้พบเจอบ่อยครั้งในเหตุการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน และแม้ว่าในช่วงระยะหลังมานั้นสังคมไทยจะประสบความสำเร็จในด้านการลงทุนการค้ากับต่างชาติมากยิ่งขึ้น ประกอบกับความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี อุตสาห-กรรมการผลิต เครื่องมือและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ฯลฯ  จนกลายเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ ถือเป็นเพียงการพัฒนาจากภายนอกที่ถูกผลิตสร้างขึ้นมาและนำมาเป็นข้อกล่าวอ้างในการมองสังคมไทยว่าเป็นสังคมที่เจริญแล้ว ประชาชนทุกคนล้วนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการร่วมพัฒนาประเทศรวมทั้งความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ก็เพิ่มมากขึ้นจากเดิมเป็นอย่างมาก ส่งผลทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาศักยภาพได้อย่างรวดเร็วจนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก แต่ในความเป็นจริงแล้วปัญหาความเป็นธรรมอันเกิดจากความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างทางรายได้ การเลือกปฏิบัติและปัจจัยอื่น ๆ ก็ยังคงเกิดขึ้นในสังคมไทยเสมอมา เพียงแต่ปัญหาความเป็นธรรมเหล่านั้นกำลังถูกกลืนกลายและปกปิด จากภาพของการพัฒนาทางวัตถุที่ถูกฉาบไว้ภายนอกเสียมากกว่า

 

           การเริ่มทบทวนบทบาทของสมาชิกในสังคมซึ่งเป็นกลุ่มของบุคคลขนาดใหญ่ที่อยู่ร่วมกัน ที่ซึ่งมีการติดต่อปฏิสังสรรค์ พึ่งพาอาศัยกัน และมีความต้องการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจและตระหนักร่วมกันถึงประเด็นความเป็นธรรมในสังคมที่เกิดขึ้น จึงมีความจำ เป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างตัวชี้วัดความเป็นธรรมทางสังคม อันนำไปสู่การเผยให้เห็นสภาพการณ์ของปัญหาความเป็นธรรม/ความไม่เป็นธรรมในมิติต่าง ๆ ที่ลื่นไหลภายใต้เงื่อนไขที่ซับซ้อน

 

         เมื่อกล่าวถึงกระบวนการพัฒนาตัวชี้วัดนั้น ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการวิจัยทางสังคม-ศาสตร์ซึ่งหมายรวมถึงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสังคม วัฒนธรรม และพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น การวิจัยด้านปรัชญา สังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น โดยจะมีกระบวนการวิจัยต่าง ๆ ที่ดำเนินการไปอย่างมีระเบียบและกฎเกณฑ์ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินงานกับข้อมูล วิเคราะห์และตีความหมายข้อมูล ซึ่งการวิจัยทางสังคมศาสตร์นี้ไม่สามารถวัดได้โดยตรงและควบคุมได้ยาก จึงต้องมีการวัดโดยใช้เครื่องมือวัดทางอ้อม ตัวอย่างเช่น ใช้แบบทดสอบ แบบสอบถาม การใช้ดัชนีตัวชี้วัด ฯลฯ และได้นำเอาวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยในการวิจัย ทำให้ผลการวิจัยเป็นที่น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น เพื่อมุ่งไปสู่การอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมที่นำไปใช้อธิบายได้โดยทั่วไป

 

       ในกระบวนการพัฒนาตัวชี้วัดเพื่อศึกษาความเป็นธรรมทางสังคม จึงเป็นเรื่องที่สอดคล้องข้องเกี่ยวกับกระบวนการสร้างองค์ความรู้ การสำรวจตรวจสอบปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ตลอดจนเป็นเรื่องของระบบคิดและกระบวนการเรียนรู้ผ่านภาคปฏิบัติการของกระบวนการลงมือทำวิจัย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่การพัฒนาตัวชี้วัดจะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับวิธีวิทยาของการวิจัยผ่านเทคนิควิธีต่างๆ ตัวอย่าง เช่น เทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูล เทคนิคการออกแบบการวิจัย เทคนิคการวัดและการสร้างตัวบ่งชี้ ตลอดจนเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูล การพัฒนาตัวชี้วัดจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อจะนำไปสู่กระบวนการวิจัยที่มีประสิทธิภาพ สามารถอธิบายสร้างความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคม และสร้างองค์ความรู้ใหม่ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่สังคมได้เป็นอย่างมาก เหล่านี้จึงสอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยในการเน้นสร้างงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่สังคมได้ 

ขอบเขตในการดำเนินงาน
 
ขอบเขตเชิงเนื้อหา ประกอบด้วยการศึกษาความเป็นธรรมทางสังคม 4 มิติ ดังนี้

          1. มิติการยอมรับและความเสมอภาคทางสังคม วัฒนธรรม

           2. มิติการมีส่วนร่วมและสิทธิทางการเมือง

           3. มิติเศรษฐกิจการกระจายทรัพยากร

           4. มิติหลักกฎเกณฑ์ บรรทัดฐานและกระบวนการยุติธรรม

 

              ขอบเขตเชิงพื้นที่และประชากร โครงการวิจัยนี้เป็นโครงการนำร่องโดยใช้พื้นที่ศึกษา คือ จังหวัดกรุงเทพ ฯ และจังหวัดปทุมธานี ซึ่งทำการเก็บข้อมูลโดยการสุ่มตัวอย่างประชากรตามเขตต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดปทุมธานีเพื่อให้ได้กลุ่มตัวอย่างที่มีความเป็นตัวแทนมากพอในกาอ้างอิงประชากรในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดปทุมธานี                                                                

ตัวอย่างประชากรตามเขตต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพ ฯ

ตัวอย่างประชากรตามเขตต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี

bottom of page