Thammasat University Research and Consultancy Institute (TU-RAC)
หลักการและเหตุผล
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศให้เติบโตควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมีหน้าที่หลัก คือ การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม อันได้แก่ การจัดเตรียมที่ดินพร้อมระบบสาธารณูปโภค เช่น การจัดให้มีถนน ท่อระบายน้ำ โรงบำบัดน้าเสีย ไฟฟ้า และ ประปา เป็นต้น เพื่อรองรับโรงงานอุตสาหกรรมให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม โดยจัดให้มีสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพียงพอ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่สนับสนุนอื่น ๆ ได้แก่ การให้สิทธิประโยชน์ การให้สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่าง ๆ แก่นักลงทุนอุต-สาหกรรม ทั้งนี้เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม ไปสู่ทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเน้นความสมดุลทั้งด้านการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ความผาสุกของสังคม คุณภาพชีวิตของชุมชนและสิ่งแวดล้อม
กนอ. มีภารกิจที่สำคัญตามกฎหมายและที่ได้รับมอบหมายตามแนวทางนโยบายการพัฒนาของประเทศที่สำคัญ คือ การจัดสรรพื้นที่ สาธารณูปโภค สาธารณูปการ และสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและภาคบริการให้มีการเจริญเติบโตอย่างมั่นคงควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในนิคมอุตสาหกรรม ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งสามารถสรุปภารกิจหลักของ กนอ. ได้ดังนี้
1) จัดหาที่ดินและพัฒนาเพื่อจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม และสนับสนุน ส่งเสริมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในรูปแบบร่วมทุน และร่วมดำเนินงาน ที่สามารถรองรับการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการตามเป้าหมายของประเทศ
2) จัดตั้งและพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมเพื่อรองรับและสนับสนุนการดำเนินงานของนิคมอุตสาหกรรมตามนโยบายการพัฒนาพื้นที่ของประเทศ
3) จัดให้มีบริการระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม
4) ให้บริการอนุมัติ อนุญาต และกำกับดูแลการประกอบกิจการของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมด้วยความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้
5) จัดให้มีและให้บริการสิทธิประโยชน์ที่สอดคล้องกับความต้องการผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม
6) ควบคุม กำกับดูแล ตลอดจนประสานจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของนิตมอุตสาหกรรม ให้เป็นไปตามกฎหมายและสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชน
ตามแผนเชิงยุทธศาสตร์ กนอ. ปี 2557–2559 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่จะมุ่งขับเคลื่อนให้ กนอ. เป็นองค์กรนำสร้างเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่มีดุลยภาพและยั่งยืน โดยมีพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของนิคมอุตสาหกรรมซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าวได้แก่ การสร้างฐานการผลิต และบริการในรูปแบบเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ สร้างความเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรม สังคม ชุมชน อย่างมีส่วนร่วมและส่งเสริม และผลักดันกลไกที่สนับสนุนการประกอบกิจการให้สามารถแข่งขันได้ โดยใช้การขับเคลื่อนผ่านทางยุทธศาสตร์ “การสร้างสมดุลของการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเพื่อความอยู่ร่วมกันของภาคอุตสาหกรรมสังคมชุมชน และสิ่งแวดล้อม” และยุทธศาสตร์ “การพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ” โดยใช้กลยุทธ์
- การยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
- การสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคมชุมชน (Community Trust Building)
- สร้างความพึงพอใจของลูกค้า (Customer Satisfaction)
- สร้างความประทับใจแก่ลูกค้าให้เหนือกว่าความคาดหวัง (Customer Loyalty)
ในการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. ภายใต้แนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ต้องมีการบริหารจัดการภายใต้ธรรมาภิบาล และดุลยภาพทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม กนอ. ได้กำหนดภารกิจหลักของสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมที่รับผิดชอบ ดังนี้
1) พิจารณาการอนุมัติ อนุญาตกรณีการใช้ที่ดิน การก่อสร้างอาคาร การดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย และใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร การตั้งโรงงาน การประกอบกิจการโรงงาน และการประกอบกิจการอื่นในนิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนการอนุมัติ อนุญาตด้านสิทธิประโยชน์
ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2) กำกับ ดูแล ส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานของผู้ประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม และผู้ใช้ที่ดินให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
3) บริหารสัญญาที่ กนอ. ทำกับผู้ประกอบกิจการ ผู้ร่วมดำเนินงาน ผู้รับจ้างให้บริการ และบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการ และสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่รับผิดชอบ
4) กำหนดมาตรฐานการให้บริการระบบสาธารณูปโภค และกำกับ ดูแล การปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนด
5) ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการกำหนดราคาขาย ค่าเช่า และค่าเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ และค่าบำ-รุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนค่าบริการและค่าธรรมเนียมในนิคมอุตสาหกรรม
6) รับผิดชอบการรับ การจ่ายเงิน ให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
7) ติดตามทวงถามหนี้ค้างชำระ
8) จัดทำบัญชี งบการเงิน พร้อมรายงานทางการเงินของสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม
9) รับผิดชอบด้านการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม
10) บริหารงานประชาสัมพันธ์ ชุมชน และมวลชนสัมพันธ์ของสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม
11) บริหารงานการตลาด และส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานการตลาดของนิคมอุตสาหกรรม
12) กำกับ ดูแล ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
13) จัดทำแผนปฏิบัติการ บริหาร และควบคุมงบประมาณของส่วนงานให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
14) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของส่วนงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือได้รับมอบหมาย
ตามภารกิจดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่าหน้าที่ที่สำคัญของนิคมอุตสาหกรรมคือ การให้บริการที่มุ่งสร้างความพึงพอใจและตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียหลัก ซึ่งได้แก่ ผู้ประกอบอุตสาหกรรม และชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องมีการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมในนิคมอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ควบคู่กับการรับผิดชอบต่อคุณภาพชีวิต และความปลอดภัยของชุมชน ดังนั้นการดำเนินงานใด ๆ ภายใต้ภารกิจ และหน้าที่ความรับผิดชอบของนิคมอุตสาหกรรม จะต้องคำนึงถึง และให้ความสำคัญต่อการสร้างความพึงพอใจ และทัศนคติที่ดีต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้เสียของนิคมอุตสาห-กรรมจะอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีแต่บริบทสังคมมีการเปลี่ยนแปลงและมีความต้องการมากขึ้นมากกว่ากฎหมายกำหนด ดังนั้นเพื่อสร้างความสมดุลของการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม และเตรียมความพร้อมให้กับนิคมอุตสาหกรรมในการเข้าสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในอนาคต จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานในทุก ๆ ด้านให้สูงขึ้น เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ การยอมรับ และความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของนิคมอุตสาหกรรม ให้สามารถอยู่ร่วมกันของภาคอุตสาหกรรม สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
การสำรวจความพึงพอใจ ความต้องการ ความคาดหวัง ความภักดีของผู้มีส่วนได้เสียต่อการดำเนินงานของนิคมอุตสาหกรรมจึงเป็นเครื่องมือสำคัญและมีความจำเป็นเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำและนำมาใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การพัฒนา ปรับปรุง กลยุทธ์ รูปแบบ และแนวทางการดำเนินงานของนิคมอุตสาหกรรมให้ดียิ่งขึ้น และมีประสิทธิผลในระยะต่อไป
ดังนั้น เพื่อให้ กนอ. ดำเนินงานได้สัมฤทธิ์ผลตามยุทธศาสตร์ กนอ. ในการสร้างสมดุลของการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเพื่อความอยู่ร่วมกันของภาคอุตสาหกรรม สังคมชุมชน และสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ ในปีงบประมาณ 2558 กนอ. จึงได้กำหนดให้มีโครงการสำรวจความพึงพอใจของชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมในการสร้างคุณภาพชีวิตและสังคมให้แก่ชุมชน ประจำปี 2558
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
การสำรวจความพึงพอใจของชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม ที่มีต่อการดำเนินงานของนิคมอุตสาหกรรม
1) เพื่อนำเสนอแนวทางพร้อมแผนงานในการปรับปรุงการดำเนินงานของ กนอ. เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและสร้างความพึงพอ ใจ ให้กับชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรืออุตสาหกรรมต่อไป
2) เพื่อนำเสนอผลการสำรวจและศึกษาความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรืออุตสาห-กรรม ต่อผลกระทบจากการดำเนินงานของ กนอ. ในการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม
วัตถุประสงค์
การสำรวจความพึงพอใจของคนในชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม ในการสร้างคุณภาพชีวิตและสังคมให้แก่ชุมชน รวมทั้งวิเคราะห์และเสนอแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงาน โดยมีวัตถุประสงค์ย่อย ดังนี้
1) เพื่อสำรวจและศึกษาความพึงพอใจของชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม ในการสร้างคุณภาพชีวิตสังคมต่อชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรืออุตสาหกรรม ในระดับ Community CSR และ Corporate CSR รวมทั้งนำข้อเสนอแนะของชุมชนมาวิเคราะห์/ประเมินและนำเสนอแนวทางพร้อมแผนงานในการปรับปรุงการดำเนินงานของ กนอ.
2) เพื่อสำรวจและศึกษาความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรืออุตสาหกรรม ต่อผลกระทบจากการดำเนินงานของ กนอ. ในการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม ตามโครงการที่สำคัญ ได้แก่ การกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย เป็นต้น
ขอบเขตในการดำเนินงาน
ชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมที่ต้องทำการสำรวจความพึงพอใจ ในการสร้างคุณภาพชีวิตสังคมต่อชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม มีรายชื่อและจำนวนชุมชนในแต่ละนิคมอุตสาหกรรม ดังนี้
